ช่วงเวลาที่แสนอบอุ่นหัวใจเมื่อน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์กว่า 20 ตัวที่เคยเกือบถูกส่งเข้าโรงเชือดในประเทศจีนได้พบกับชีวิตใหม่ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครและกลุ่มช่วยเหลือสัตว์จนรอดชีวิตจากโรงเชือด

.
แผนการช่วยเหลือเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ Golden Rescue South Florida พวกเขาระดมความคิดวางแผนและทุนกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.5 ล้านบาทสำหรับภารกิจช่วยเหลือชีวิต
.
“คริสทีน มิเนอร์วา” (Kristine Minerva) หญิงวัย 40 ปีผู้ประสานงานของ Golden Rescue South Florida หนึ่งในมนุษย์ใจดีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการช่วยเหลือน้องหมาโกลเด้นทั้ง 20 ตัวเล่าว่า เธอได้อ่านข่าวจึงทำให้ได้เห็นชะตากรรมน่าเศร้าของน้องหมาที่ถูกเลี้ยงเอาไว้ในฟาร์มค้าเนื้อในประเทศจีน ซึ่งนั่นทำให้หัวใจของเธอรู้สึกหดหู่และอดสงสารน้องหมาเหล่านั้นไม่ได้ จากนั้นจึงได้เกิดความคิดที่จะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอจึงได้ตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม ก่อนที่จะประสานงานไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ในกรุงปักกิ่งประเทศจีน เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการภารกิจครั้งนี้
คริสทีน มิเนอร์วา
.
“มีการประเมินว่ามีน้องหมากว่า 10 ล้านตัวในประเทศจีนที่ถูกฆ่าเพื่อการบริโภค แค่ได้รับรู้ความจริงในข้อนี้หัวใจฉันก็รู้สึกหดหู่มาก แต่ยิ่งได้เห็นสภาพความเป็นอยู่และแววตาที่สิ้นหวังของพวกเขาที่กำลังต่อแถวถูกเชือด มันก็ทำให้หัวใจของฉันแทบแตกสลาย แต่หลังจากที่ฉันได้ช่วยชีวิตเพื่อนสี่ขาเหล่านั้นออกมาให้ปลอดภัย ยุติการนับถอยหลังสู่ความตายลงได้สำเร็จ มันก็กลายเป็นหนึ่งในความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมทำให้ฉันมีความสุขได้มากอย่างที่สุดจริงๆ การอุปถัมภ์และการช่วยชีวิตสัตว์เป็นสิ่งที่ฉันรักและทำมาตลอด น้องหมาพูดไม่ได้ แต่เราสามารถเป็นปากเป็นเสียงพูดแทนพวกเขาได้”
คริสทีนกล่าว
.
ภารกิจในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและการช่วยเหลือจากกลุ่มปกป้องสัตว์จากการถูกทารุณกรรมในไต้หวันและกลุ่มสิทธิสัตว์ในอเมริกาด้วย ซึ่งการช่วยเหลือใช้ระยะเวลานานกว่า 6 เดือนในการดำเนินการ แต่ในท้ายที่สุดแล้วน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ทั้งหมดก็ถูกช่วยเหลือและพาไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

.
“น้องหมาตัวแรกที่ฉันพาออกมาจากกรงหลังจากที่เดินทางมาถึงอเมริกา ฉันมองเข้าไปในดวงตาและพูดกับเขาว่า ‘เธอไม่ต้องกลัวว่าจะถูกกินอีกแล้วนะ’ แล้วฉันก็กอดเขา มันเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่งมากจริงๆ”
คริสทีนกล่าว
.

.

.

.
ปัจจุบันน้องหมาทั้ง 20 ต้วอยู่ในความดูแลของ Golden Rescue South Florida และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเยียวยาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ถึงแม้ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่จะยังไม่ได้ประกาศหาบ้านหลังใหม่ให้กับน้องหมาแต่ทว่าก็มีประชาชนจำนวนมากที่ได้ติดตามและทราบข่าวการช่วยเหลือในครั้งนี้ติดต่อมายังศูนย์ฯ เพื่อแสดงความประสงค์พร้อมที่จะเป็นผู้อุปการะน้องหมาโกลเด้นผู้รอดชีวิตจากโรงเชือดไม่ต้องถูกบริโภคเป็นอาหาร ให้ได้พบกับชีวิตใหม่ที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถมอบให้ได้

.

.
Golden Rescue South Florida มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์และน้องหมาสายพันธุ์อื่นๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายทั่วโลก หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจนี้ทีมช่วยเหลือยังคงจะเดินหน้าช่วยเหลือเหล่าน้องหมาที่กำลังสิ้นหวังต่อไป...
.
“มีน้องหมาโกลเด้นรีทรีฟเวอร์น้อยลงเรื่อยๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือในอเมริกา ดังนั้นฉันจึงคิดว่าจะแบ่งทีมไปช่วยน้องหมาโกลเด้นที่กำลังเผชิญกับเรื่องเลวร้ายในประเทศจีนให้มากขึ้น”
คริสทีนกล่าว
.

.
ในขณะที่กลุ่มคน มูลนิธิ องค์กรเพื่อสัตว์ทั้งจากภายในและนอกประเทศจีนได้มีความพยายามจะหยุดยั้งการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า น้องหมาและน้องแมวมานานหลายปีแต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ทว่าหลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่าแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย การจำกัดการบริโภคประเภทเนื้อสัตว์จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในสังคมจีนอีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการสร้างแรงกดดันอย่างหนักให้กับทางการจีน จนทำให้ต้องออกมาสั่งห้ามประชาชนซื้อขายและบริโภคสัตว์ป่า แต่ทว่าก็เป็นเพียงแค่มาตรการชั่วคราวเท่านั้น
.
อย่างไรก็ตามใน "เซินเจิ้น" เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ ของมณฑลกวางตุ้ง เขตพื้นที่ทดลองในการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมที่ล้อไปกับแนวคิดแบบสังคมนิยมที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 12.5 ล้านคน ได้เป็นเมืองแรกที่ตอบรับข้อเรียกร้องจากกลุ่มคนรักสัตว์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกกฎหมายไม่ให้มีการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงเนื้อน้องหมาและน้องแมวอย่างเด็ดขาดเป็นการถาวรตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้สังคมมีความเป็นสากลมากขึ้นเหมาะสมเข้ากับโลกยุคใหม่และเพื่อสุขอนามัยที่ดี! เซินเจิ้นจึงกลายเป็นเมืองแรกในประเทศจีนที่มีกฏหมายจำกัดประเภทเนื้อสัตว์ในการบริโภค ทั้งนี้เซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจออกระเบียบ กฎ ข้อบังคับใช้ในพื้นที่ได้ทันที

ความงดงามของเมืองเซินเจิ้น
.
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ประเทศจีนเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกในหลายๆ ด้าน รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่หลากหลายและการสงเคราะห์สัตว์ภายในประเทศด้วย นั่นจึงทำให้ทางการจีนเร่งร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อห้ามซื้อขายสัตว์ป่าและคุ้มครองสัตว์เลี้ยงขึ้นมาใช้ โดยในระหว่างที่รอกฎหมายฉบับใหม่สมบูรณ์และประกาศใช้ ทางการจีนก็ได้มีความพยายามรณรงค์หวังยกระดับการสงเคราะห์สัตว์ให้ได้รับการยอมรับเป็นสากลมากขึ้นด้วย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จเพราะเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ประชาชนในเมืองหยูหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังคงฝ่าฝืนจัดงานเทศกาลกินเนื้อน้องหมาท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อย่างหนักในประเทศและขยายวงกว้างไปตามภูมิภาคอื่นทั่วโลกเรื่อยๆ โดยไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง

.
"ปีเตอร์ หลี่" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษนโยบายจีนของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์ ฮิวแมน โซไซตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า เขาหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเทศกาลที่เมืองหยูหลิน คงเป็นเรื่องดีหากนี่จะเป็นการจัดงานปีสุดท้าย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ แต่ยังรวมถึงสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนด้วย

.
เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ง่ายและทางการจีนยังคงต้องใช้ความพยายามอีกมาก...
.
.
.
ช่วยกดไลก์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ Dog’s Clip ด้วยนะครับ
หากมีประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของเหล่าเพื่อนสัตว์
อย่าลืมส่งมาแบ่งปันด็อกคลิปนะครับ เรื่องราวของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจ
หรือช่วยให้เหล่าเพื่อนสัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กดเพื่อเข้าร่วมกลุ่มด็อกคลิป , กดเพื่อส่งเรื่องราวของคุณ หรือติดแฮชแท็ก #dogsclip
..................................................................
บทความโดย dogsclip.com
“บทความถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของด็อกคลิป บทความมีลิขสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก และ หรือ ดัดแปลงนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อสร้างรายได้ก่อนได้รับอนุญาต”
.
.